อ่านข่าวเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องการพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนแล้วน่าสนใจมากและคิดว่าคงเป็นประโยชน์ต่อคุณครู จึงนำข่าวนี้มาฝากค่ะ
ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในปีล่าสุด ที่ดำเนินการโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) โดยจัดสอบ 8 กลุ่มสาระทุกช่วงชั้นคือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ และการงานอาชีพและเทคโนโลยี พบว่า
>>>ในระดับชั้น ป.6 มีผู้เข้าสอบประมาณ 898,000 คนวิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือภาษาอังกฤษ 31.75 และค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ สุขศึกษาและพลศึกษา64.75 ส่วน>>>ชั้น ม.3 มีผู้เข้าสอบ794,000 คน วิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ภาษาอังกฤษ 22.54 และค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ สุขศึกษาและพลศึกษา 56.70
>>>สำหรับชั้น ม.6 มีผู้เข้าสอบ 350,000 คน วิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ภาษาอังกฤษ23.98 ส่วนค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ภาษาไทย46.47 จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษมีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดทุกระดับชั้นทั้ง ป.6 ม.3 และ ม.6 แม้ว่าทุกวันนี้เด็กไทยจะมีแนวทางและโอกาสในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่หลากหลายขึ้น ทั้งจากครูผู้สอนในห้องเรียน สื่อ เพลงภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต แต่ยังมีคำถามเสมอว่า ทำไมเด็กไทยปัจจุบันพัฒนาการทางภาษาอังกฤษยังไม่ได้แตกต่างไปจากสมัยก่อนมากนัก หลายคนมีมุมมองเสนอทางออกที่แตกต่าง เช่น ถึงเวลาที่จะต้องพัฒนาการเรียนการสอนใหม่ ควรปรับวิธีการถ่ายทอดของครูใหม่ ควรจัดครูสอนที่ตรงวุฒิควรปรับหลักสูตรใหม่เป็นต้น
จริง ๆ แล้วคงไม่มีสูตรสำเร็จรูปใดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในการแก้ไขปัญหาของเด็กแต่ละคน แต่ย่อมจำเป็นต้องใช้วิธีการที่มีความแตกต่างหลากหลาย กรณีกลุ่มเด็กที่มีความสน ใจกระตือรือร้นที่จะเรียนสามารถเลือกใช้วิธีการใดก็ได้ แต่สำหรับเด็กกลุ่มอื่น ๆ ต้องไม่มองข้ามความแตกต่างของเด็กแต่ละคน เช่น ฐานะของครอบครัว การศึกษาของพ่อแม่ สภาพแวดล้อมของเด็กการเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยี เป็นต้น
มีหลากหลายวิธีที่เสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาภาษาอังกฤษของเด็กไทยเช่น การสอนให้นักเรียนรู้คำศัพท์จำนวนมาก เพราะปัญหานักเรียนรู้ศัพท์น้อยนั้นเป็นสาเหตุสำคัญโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ และยังก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอีกหลายอย่างตามมา การสอนภาษาอังกฤษในแต่ละชั่วโมงจำเป็นต้องให้นักเรียนได้ฝึกครบทุกทักษะทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน เป็นต้น
\"การที่จะแก้ปัญหาภาษาอังกฤษบกพร่องของคนไทยนั้น เราควรจะรวมวิธีการสอนแบบโฟนิคส์ และวิธีสอนอ่านเป็นคำเข้าด้วยกัน ซึ่งมี 7 ขั้นตอนในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้เกิดความชำนาญและคล่องแคล่วที่รวมทุกทักษะ คือ ฟังพูด อ่าน และเขียนเข้าด้วยกัน เป็นการสอนภาษาอังกฤษด้วยกรอบของทฤษฎีใหม่วิธีสอนอ่านที่ได้ผลที่สุดจะต้องประกอบด้วยการปูพื้นฐาน 3 ประการคือ
(1) การฝึกให้รู้จักหน่วยเสียงทุกเสียงของภาษาอังกฤษ (phonemic awareness) หรือการฟัง
(2) การฝึกโฟนิคส์ (phonics) เพื่อเชื่อมโยงตัวอักษรกับหน่วยเสียง หรือการฝึกอ่านออกเสียงอย่างเป็นระบบ
(3)การฝึกทักษะภาษาอังกฤษต่อด้วยวิธีการของการสอนอ่านเป็นคำ (whole word method) หรือแบบองค์รวม (whole language) โดยต้องฝึกจนชำนาญ แล้วควรนำความรู้มาใช้ในการฝึกภาคปฏิบัติจริงเช่น อ่านนิทาน สารคดี ข่าว บทความเพราะถ้าผู้เรียนอ่านภาษาอังกฤษมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่เขาจะเขียนเก่งก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นทฤษฎีใหม่ในการสอนภาษาอังกฤษที่รวมการพัฒนาทุกทักษะเข้าด้วยกัน\" จากข้อเขียนบางตอนของดร.อินทิรา ศรีประสิทธิ์
เมื่อประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งสมาชิกที่กำลังจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้ ภาษาอังกฤษยิ่งทบทวีความสำคัญและความจำเป็นมากขึ้น คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการวางแผนและเตรียมพร้อมพัฒนาเด็ก เยาวชน และคนไทยให้มีคุณภาพและมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามที่สังคมคาดหวัง ครูผู้สอนซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญในการถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาสังคม ต้องมีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลาแสวงหาเทคนิควิธีสอนใหม่ ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และผู้บริหารต้องให้ความสำคัญพร้อมสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนในการเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของภาษาประจำชาติและภาษาต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้ในสังคมอาเซียนและเวทีโลกต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 7 ธันวาคม 2553
สรุป : บทความ ฟาฏินา วงศ์เลขา พัฒนาภาษาอังกฤษ เตรียมเด็กไทยสู่เวทีโลก